TU Sustainability Report 2023 Recap | ธรรมศาสตร์กับการขับเคลื่อน SDG 2

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เดินหน้าขับเคลื่อนประเด็นขจัดความหิวโหยอย่างเต็มกำลัง ด้วยความเข้าใจว่าการเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยใช้การสร้างความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งงานวิจัยเชิงลึก โครงการวิชาการบริการสังคมที่ตอบโจทย์ชุมชน และการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืนและครอบคลุมสำหรับทุกคน

1. งานวิจัยเข้มข้นตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหารทุกมิติ

นักวิจัยของธรรมศาสตร์ได้ผลิตผลงานวิจัยที่ครอบคลุมทุกด้านของความมั่นคงทางอาหาร เพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ตัวอย่างเช่น

  • พัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรอย่างยั่งยืน ลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย และส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพในพืช อาทิ การวิจัยและประยุกต์ใช้จุลินทรีย์ในดินเพื่อปรับปรุงคุณภาพดินและเพิ่มผลผลิตพืช
  • ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอาหาร วิจัยและพัฒนาโปรตีนทางเลือกใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการอาหารในอนาคต รวมถึงการ AI และระบบดิจิทัลมาใช้ในการประเมินผลผลิตทางการเกษตรอย่างแม่นยำ และการพัฒนานวัตกรรมเพื่อลดขยะอาหาร เช่น กระบวนการผลิตไฮโดรเจนและไบโอดีเซลจากขยะอาหาร
  • ศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อภาคการเกษตรและระบบอาหาร พร้อมพัฒนากลยุทธ์และแนวทางการปรับตัวสำหรับพื้นที่ต่างๆ อาทิ การจัดการคุณภาพน้ำในภาวะวิกฤต ระบบนิเวศชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบ และการส่งเสริมเกษตรกรรมในเขตเมืองเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหารในครัวเรือน
  • ศึกษาเรื่องโภชนาการที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุและผู้ป่วย รวมถึงการวิเคราะห์ความเสี่ยงจากการปนเปื้อนในอาหาร และภาวะทุพโภชนาการ เพื่อนำไปสู่การพัฒนานโยบายและแนวทางปฏิบัติที่ส่งเสริมสุขภาพที่ดีของประชาชน

2. โครงการบริการสังคมที่สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนและยกระดับคุณภาพชีวิต

ธรรมศาสตร์ดำเนินโครงการบริการสังคมกว่า 23 โครงการ ที่มุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมมือกับคณะต่างๆ ในการสร้างพลังชุมชนและส่งเสริมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อาทิ

  • สถาบันทรัพยากรมนุษย์จัดโครงการฝึกอบรมอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง โดยเน้นทักษะที่สามารถนำไปสร้างรายได้ เช่น การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรแปรรูป เพื่อสร้างโอกาสและความมั่นคงทางเศรษฐกิจภายหลังพ้นโทษ
  • คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีสนับสนุนการทำธุรกิจเกษตรในท้องถิ่น อาทิ สวนบ้านนูลุงไข่ และฟาร์มเกษตรมูดิน โดยให้คำปรึกษาและส่งเสริมการจัดการธุรกิจเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกร
  • สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงได้ให้คำปรึกษาด้านการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปสู่ตลาดต่างประเทศ และจัดอบรมการวางแผนการเงินและการปรับโครงสร้างหนี้แก่สหกรณ์ต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการเงินของภาคเกษตรกร
  • คณะนิติศาสตร์ และคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาร่วมจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้และความตระหนักเกี่ยวกับความสำคัญของภาคเกษตรและวิถีชีวิตชาวนา อาทิ นิทรรศการออนไลน์ “พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่องค์ความรู้ภูมิปัญญาไทย

3. นวัตกรรมและเทคโนโลยีช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารด้วยพลังแห่งความก้าวหน้า 

ธรรมศาสตร์นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรและสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ

  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีโรงอาหารถึง 15 แห่ง กระจายอยู่ใน 4 วิทยาเขต ที่ให้บริการอาหารราคาประหยัด (จานหลักราคาประมาณ 25-30 บาท) เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของนักศึกษาและบุคลากร นอกจากนี้ยังมีบริการน้ำดื่มฟรี และที่โดดเด่นคือ “โรงอาหารอิ่มสุข” ที่ศูนย์รังสิต ซึ่งให้บริการอาหารในราคาถูกพิเศษ (ข้าวเปล่า 5 บาท กับข้าว 10 บาท) เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพได้
  • ธรรมศาสตร์ได้ผนึกกำลังกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ Queen’s University Belfast จากสหราชอาณาจักร จัดตั้งศูนย์วิจัยร่วมด้านความมั่นคงทางอาหาร (IJC-FOODSEC) เพื่อดำเนินการวิจัยเชิงลึกด้านความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันจะนำไปสู่แนวทางแก้ไขปัญหาระดับภูมิภาค
  • แพลตฟอร์ม Blockchain TraceThai.com ที่พัฒนาโดยสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แพลตฟอร์มนี้มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือในห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทย ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน ด้วยการบูรณาการความรู้จากหลากหลายสาขาวิชา การบริการสังคมที่เข้าถึงและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้ทุกคนในสังคมสามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสังคมที่ยั่งยืน

ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อขจัดความยากจนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 2 (SDG 2: No Hunger) เหล่านี้ สรุปและเรียบเรียงจาก รายงานความยั่งยืนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับล่าสุด ประจำปี 2566 (Thammasat University Sustainability Report 2023)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *