TU Sustainability Report 2023 Recap | ธรรมศาสตร์กับการขับเคลื่อน SDG 13

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มุ่งมั่นอย่างจริงจังที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราตระหนักว่าปัญหาสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อทุกคน จึงได้ใช้ความรู้ความสามารถและทรัพยากรที่มีอยู่ ผ่านการดำเนินงาน 3 ด้านหลัก ได้แก่ งานวิจัย งานบริการวิชาการเพื่อสังคม และโครงการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อร่วมสร้างอนาคตที่มีความสามารถในการตั้งรับปรับตัวกับวิฤตภูมิอากาศของทั้งประเทศไทยและประชาคมโลก

1. งานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

คณาจารย์และนักวิชาการของธรรมศาสตร์ได้ผลิตผลงานวิจัยที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญเพื่อขับเคลื่อน SDG 13 โดยเน้นการสร้างองค์ความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง ตัวอย่างเช่น

  • ศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับพลังงานสะอาดแห่งอนาคต เช่น ไฮโดรเจนสีเขียว, เทคโนโลยีเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน (Waste-to-Energy), การผลิตไบโอโคล (Bio-coal) จากชีวมวล, และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบกระจายศูนย์ (Distributed Renewable Energy Generators) นอกจากนี้ ยังประเมินเส้นทางสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Emissions) ภายในปี 2050 ของประเทศไทย เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบาย
  • วิจัยวิธีการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ เพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ
  • ศึกษาความยืดหยุ่นของเมืองและการปรับตัวต่อความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ ผ่านการจัดการความเสี่ยงจากน้ำท่วมอย่างยั่งยืน การประเมินความเปราะบางของพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสร้างพื้นที่ในเมืองที่มีตั้งรับปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศได้ เพื่อลดความเสียหายจากภัยธรรมชาติ
  • เน้นการวิจัยที่ว่าพฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral Science) สามารถส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศได้อย่างไร เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในระดับบุคคลและสังคม
  • ศึกษาผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปต่อสุขภาพจิต สุขภาพทางเดินหายใจของประชาชน และผลผลิตทางการเกษตร เพื่อหาแนวทางในการป้องกันและปรับตัว

2. โครงการบริการสังคมเพื่อสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมในชุมชน 

ธรรมศาสตร์ดำเนินโครงการบริการสังคมที่มุ่งเน้นการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศและความสามารถในการตั้งรับปรับตัว โดยร่วมมือกับหลากหลายคณะเพื่อสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในสังคม อาทิ

  • สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) จัดโครงการ “Let’s Make My EV: Chemical Engineering and Electric Vehicle Technology!” เพื่อให้ความรู้และทักษะด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการขนส่ง
  • คณะเศรษฐศาสตร์ จัดงาน Monday Brown Bag ในหัวข้อ “ยานยนต์สมัยใหม่: ความสามารถในการแข่งขันและการปรับตัวในประเทศไทย” เพื่อส่งเสริมการอภิปรายและทำความเข้าใจถึงแนวโน้มและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์พลังงานสะอาด
  • SIIT จัด Workshop ในหัวข้อ “ภัยพิบัติทางธรรมชาติและวิศวกรรมโยธา: หลักการของวิศวกรรมโครงสร้างเพื่อความยืดหยุ่นต่อแผ่นดินไหว” เพื่อเตรียมความพร้อมและเสริมสร้างความรู้ด้านการออกแบบโครงสร้างที่ทนทานต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ

3. โครงการและการดำเนินงานมุ่งลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม

ธรรมศาสตร์มีโครงการและการดำเนินงานที่ส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรมภายในมหาวิทยาลัย และเป็นแบบอย่างให้กับสังคม ได้แก่

  • โครงการ Low Emission Support Scheme (LESS) ด้วยการจัดตั้งธนาคารขยะรีไซเคิล การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ทั่ววิทยาเขต และการเปลี่ยนรถโดยสารภายในมหาวิทยาลัยเป็นรถโดยสารไฟฟ้า เพื่อลดการใช้พลังงานฟอสซิล
  • จัดการแข่งขัน Climate Action Hackathon: Small is Beautiful เพื่อระดมความคิดและนวัตกรรมใหม่ๆ ในการสร้างต้นแบบราคาประหยัดและมีผลกระทบสูงในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ในการสร้างสรรค์แนวทางการแก้ปัญหา
  • คณะสาธารณสุขศาสตร์ มีบทบาทสำคัญในการจัดงาน International Day of Clean Air for Blue Skies (IDCABS) 2023 ที่มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหามลพิษทางอากาศและแนวทางการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งแสดงถึงบทบาทของธรรมศาสตร์ในการเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการบูรณาการความรู้จากหลากหลายสาขาวิชา การบริการสังคมที่สร้างผลกระทบในวงกว้าง และโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อร่วมสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและปลอดภัยจากผลกระทบของสภาพภูมิอากาศสำหรับทุกคน

ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อขจัดความยากจนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 13 (SDG 13: Climate Action) เหล่านี้ สรุปและเรียบเรียงจาก รายงานความยั่งยืนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับล่าสุด ประจำปี 2566 (Thammasat University Sustainability Report 2023)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *