TU Sustainability Report 2023 Recap | ธรรมศาสตร์กับการขับเคลื่อน SDG 10

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มุ่งมั่นอย่างจริงจังที่จะลดความเหลื่อมล้ำ เราเชื่อว่าการสร้างสังคมที่ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนและสันติสุข จึงได้ใช้ความรู้ความสามารถและทรัพยากรที่มีอยู่ ผ่านการดำเนินงาน 3 ด้านหลัก ได้แก่ งานวิจัย งานบริการวิชาการ และการกำหนดนโยบายที่เท่าเทียม เพื่อขับเคลื่อนไปสู่สังคมที่ลดช่องว่างและสร้างความเป็นธรรมสำหรับทุกคน

1. งานวิจัยเจาะลึกความเหลื่อมล้ำในหลากหลายมิติ

คณาจารย์และนักวิชาการของธรรมศาสตร์ได้สร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่ครอบคลุมประเด็นความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ เพื่อทำความเข้าใจสาเหตุ ผลกระทบ และแนวทางแก้ไขที่ยั่งยืน ตัวอย่างได้แก่

  • ศึกษาผลกระทบของการค้า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างในตลาดแรงงาน รวมถึงการวิเคราะห์การแบ่งขั้วของงาน (Job Polarization) และการแบ่งแยกอาชีพตามเพศ เพื่อทำความเข้าใจกลไกที่นำไปสู่ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ
  • ตรวจสอบการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้สูงอายุ ผู้อพยพ และผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมักเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงบริการพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อเสนอแนวทางในการสร้างระบบสุขภาพที่เท่าเทียม
  • ศึกษาปัญหาและความท้าทายของกลุ่มชายขอบในสังคม เช่น กลุ่ม LGBTQ+ (ผู้มีความหลากหลายทางเพศ) และแรงงานข้ามชาติ ในประเด็นต่างๆ อาทิ ตราบาปภายใน (Internalized Stigma) ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และการเข้าถึงบริการสุขภาพ เพื่อส่งเสริมการยอมรับและการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ
  • ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมกับการเผชิญกับอันตรายจากสิ่งแวดล้อม เช่น ความร้อนที่สูงขึ้นในย่านที่อยู่อาศัยของคนรายได้น้อย เพื่อหาแนวทางในการสร้างเมืองที่เท่าเทียมและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

2. โครงการบริการสังคมเพื่อสร้างความเท่าเทียมผ่านการปฏิบัติ

ธรรมศาสตร์ดำเนินโครงการบริการสังคม 5 โครงการ ที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นรูปธรรม โดยร่วมมือกับหลากหลายคณะเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกในชุมชน อาทิ

  • คณะทันตแพทยศาสตร์ จัดโครงการ “อบรมทันตแพทย์ปฐมภูมิเพื่อดูแลผู้ป่วยที่มีความต้องการพิเศษ” ซึ่งเป็นโครงการอบรมพัฒนาศักยภาพทันตแพทย์ผู้รับผิดชอบทันตกรรมปฐมภูมิ ทั้งในระดับหน่วยบริการปฐมภูมิและระดับอำเภอ เพื่อให้สามารถจัดบริการและดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางและผู้ที่มีปัญหาในการเข้าถึงบริการทันตกรรมได้อย่างมีคุณภาพ ครอบคลุมทันตกรรมสำหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษทุกกลุ่มวัย
  • คณะนิติศาสตร์จัดสัมมนาและเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อสำคัญ อาทิ “สรุปความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการคนกลุ่มเปราะบาง” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเสวนาทางวิชาการ “สรุปความเห็นจัดการคนเปราะบาง” ผ่าน “ร่างรายงานท่าสองยางศึกษา” ครั้งที่ 2 ภายใต้โครงการ “เสวนาเพื่อคนเปราะบางเพราะตกอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติของมนุษย์” (ระหว่างประเทศ) เพื่อนำเสนอมุมมองและข้อเสนอแนะในการคุ้มครองกลุ่มเปราะบาง
  • สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาจัดเสวนา “กฎหมายความเท่าเทียมทางเพศ” เพื่อสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมความเข้าใจในประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคทางเพศ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
  • วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จัด PSDS Talk ในหัวข้อ “สมรสเท่าเทียม: พ.ร.บ. รับรองเพศ” โดยเฉพาะการเสวนาในหัวข้อ “สมรส (ต้อง) เท่าเทียม: พ.ร.บ. รับรองเพศสภาพ” เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มุ่งสู่การรับรองสิทธิที่เท่าเทียมกันในด้านการสมรสและเพศสภาพ
  • สถาบันไทยคดีศึกษาจัดทำหนังสือเสียง “ภูมิปัญญาคัมภีร์ยาพระนารายณ์” สำหรับผู้พิการทางสายตา ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้และวัฒนธรรมอันล้ำค่าของไทยสำหรับกลุ่มผู้พิการ

3. นโยบายและโครงการส่งเสริมความเท่าเทียมในทุกมิติของมหาวิทยาลัย

ธรรมศาสตร์มุ่งมั่นที่จะสร้างสภาพแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัยที่ส่งเสริมความเท่าเทียมและไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสในการเรียนรู้และทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ ผ่านการดำเนินการเหล่านี้

  • กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อต่อต้านการเลือกปฏิบัติและการกีดกันในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะในการศึกษาหรือการจ้างงาน เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม
  • มอบทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนจากพื้นที่ชนบท ผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มที่ด้อยโอกาส เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษา
  • อนุญาตให้นักศึกษาแต่งกายตามเพศวิถีของตนเองได้อย่างอิสระ เพื่อส่งเสริมความหลากหลายและเคารพในอัตลักษณ์ของแต่ละบุคคล พร้อมทั้งบังคับใช้กฎระเบียบที่ห้ามการคุกคาม การเลือกปฏิบัติ การกลั่นแกล้ง หรือการล่วงละเมิดทุกรูปแบบ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและยอมรับความแตกต่าง
  • จัดตั้ง ศูนย์บริการสนับสนุนนักศึกษาพิการ (DSS) เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เข้าถึงได้ เท่าเทียม และครอบคลุมสำหรับนักศึกษาพิการทุกคน โดยให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวก การสนับสนุนการเรียนรู้ และการให้คำปรึกษาที่เหมาะสม

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการบูรณาการความรู้จากหลากหลายสาขาวิชา การบริการสังคมที่เข้าถึงและเสริมสร้างศักยภาพให้กลุ่มเปราะบาง และการกำหนดนโยบายที่ส่งเสริมความเท่าเทียม เพื่อร่วมสร้างสังคมที่เป็นธรรม และเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเติบโตและใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณค่า

ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อขจัดความยากจนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 10 (SDG 10: Reduced Inequality) เหล่านี้ สรุปและเรียบเรียงจาก รายงานความยั่งยืนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับล่าสุด ประจำปี 2566 (Thammasat University Sustainability Report 2023)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *